ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิลากิจเพื่อกิจธุระจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วัน ซึ่งคำว่า "กิจธุระจำเป็น" หมายถึง กิจธุระอันจำเป็นที่จะต้องดำเนินด้วยตนเองโดยไม่สามารถให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้ เช่น การทำบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ การลาไปจดทะเบียนสมรส หรือการลาไปติดต่อทำธุระกับหน่วยงานราชการ ด้วยข้อกฎหมายดังกล่าว โดยพื้นฐาน ลูกจ้างจะมีสิทธิลากิจได้โดยได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 3 วัน ต่อปี โดยในกรณีที่นายจ้างมีข้อบังคับการทำงานที่กำหนดวิธีปฏิบัติการขอลากิจที่ไม่ได้ขัดกฎหมาย เช่น ลากิจต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน ต้องแจ้งการลาผ่านระบบหรือช่องทางใด ฯลฯ ลูกจ้างก็จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวด้วย แต่ถึงแม้นายจ้างจะไม่ได้มีข้อบังคับกำหนดวิธีปฏิบัติการขอลากิจเป็นการเฉพาะ หรือเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถรอการอนุมัติได้ ลูกจ้างก็ยังจำเป็นต้องแจ้งนายจ้างล่วงหน้าตามความเหมาะสมพร้อมกับระบุเหตุจำเป็นนั้นเพื่อให้นายจ้างได้พิจารณาก่อนลากิจ หรือรับทราบถึงความฉุกเฉินในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วน
เมื่อลูกจ้างได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของนายจ้าง หรือได้แจ้งเหตุผลการลากิจให้กับนายจ้างล่วงหน้าแล้ว ถ้าเหตุผลในการขอลากิจเป็นธุระอันจำเป็นที่ลูกจ้างจะต้องดำเนินด้วยตนเองจริงๆ ตามที่กล่่าวไว้ข้างต้น ลูกจ้างก็มีสิทธิลากิจได้ตามกฎหมาย นายจ้างจะปฏิเสธการลากิจของลูกจ้างไม่ได้
อ้างอิง: คำพิพากษาฎีกาที่ 613/2529
เขียนและเรียบเรียงโดย รักพล สังษิณาวัตร
(ทนายความรักพล)
Email: rukphons@gmail.com
Tel: 095-390-8245
0 ความคิดเห็น