โดยปกติแล้วการฝึกงานมันจะไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่ก็มีผู้ฝึกงานจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ได้ค่าตอบแทนระหว่างการฝึกงานไปด้วย คำถามคือ บุคคลที่มาฝึกงานและได้รับค่าตอบแทน จะต้องได้สวัสดิการเหมือนกับลูกจ้างคนอื่นขององค์กรนั้นหรือไม่ และถ้านายจ้างต้องการยุติการฝึกงานดังกล่าว นายจ้างจะต้องจ่าค่ายชดเชยให้กับผู้ฝึกงานรายนั้นหรือไม่
ก่อนอื่น สิ่งที่เราต้องพิจารณาจริงๆ คือการจ้างงานนั้นแตกต่างกับการฝึกงานอย่างไร ซึ่งการจ้างงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานจะหมายถึงการที่บุคคลหนึ่งที่เรียกว่า "ลูกจ้าง" ตกลงเข้าทำงานให้กับบุคคลหนึ่งที่เรียก "นายจ้าง" ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงาน จากข้อกฎหมายดังกล่าว ถ้าการฝึกงานจะต้องเข้าลักษณะการจ้างงานตามกฎหมาย กล่าวคือ การจะต้องมุ่งเน้นไปยังการได้รับผลงานจากการปฏิบัติงานจากผู้ฝึกงานเป็นหลัก ในกรณีนี้ ผู้ฝึกงานถึงจะมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลาหรือในวันหยุดและค่าชดเชย วันหยุด วันลาและสวัสดิการอื่นๆ เช่นเดียวกันกับลูกจ้างคนอื่นในองค์กรนั้น
ในทางตรงกันข้าม ถ้าการฝึกงานนั้นเป็นเพียงแค่การสอนงานในภาคปฏิบัติหรือการฝึกอมรมโดยมุ่งเน้นไปที่การให้องค์ความรู้แก่ผู้ฝึกงานซึ่งไม่ได้คาดหวังการได้รับผลงานใดๆจากผู้ฝึกงาน การฝึกงานดังกล่าวก็จะไม่ถือว่าเป็นการจ้างงานตามกฎหมายและจะไม่ถือว่าผู้ฝึกงานเป็นลูกจ้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ฝึกงานไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลาหรือในวันหยุดและค่าชดเชย วันหยุด วันลาและสวัสดิการอื่นๆ เช่นเดียวกันกับลูกจ้างคนอื่นในองค์กรนั้นในกรณีนี้
เขียนและเรียบเรียงโดย รักพล สังษิณาวัตร
(ทนายความรักพล)
Email: rukphons@gmail.com
Tel: 095-390-8245
0 ความคิดเห็น