Ticker

6/recent/ticker-posts

คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างชาติ ต้องรับผิดอะไรบ้าง



ก่อนอื่นต้องทำเข้าใจก่อนว่าโดยทั่วไปคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรืออยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลนั้น จะไม่สามารถประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้ทันที หากมีความจำเป็นที่จะต้องประกอบธุรกิจในประเทศไทย ก็จะต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อประกอบธุรกิจในประเทศไทยก่อน เหตุผลก็คือเพื่อจะได้ปกป้องผู้ประกอบการไทยจากการแข่งขันทางธุรกิจจากคนต่างชาติ  ปกป้องประเทศไทยจากการรุกล้ำทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศที่มากเกินไป ซึ่งตามกฎหมายแล้วทั้งคนต่างชาติและนิติบุคคลต่างประเทศจะถูกเรียกรวมกันว่า "คนต่างด้าว" เหมือนกัน

สำหรับกรณีที่บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย แต่มีผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติ (คนต่างด้าว) ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป บริษัทดังกล่าวจะมีสถานะเป็นบริษัทต่างชาติ  ตาม พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (พูดง่ายๆ ก็คือบริษัทก็จะกลายเป็นคนต่างด้าวเหมือนกัน) และจะต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจต่อกองบริหารธุรกิจของคนต่างด้าว กระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นที่มาของการให้บุคคลไทยถือหุ้นในสัดส่วน 51% และให้บุคคลต่างด้าวถืออีก 49% ตามที่ทุกคนคุ้นเคยกัน ซึ่งก็เพื่อหลีกเลี่ยงขั้นตอนในการขออนุญาตประกอบธุรกิจนั้นเอง

ทั้งนี้ บางครั้งคนไทยก็ไม่ได้ลงทุนเข้าซื้อเอง แต่เพียงแค่ถือหุ้นในนามของคนต่างด้าวที่เป็นนายทุน แต่เงินที่ลงทุนจริงๆ เป็นของคนต่างด้าวทั้งหมด ซึ่งคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างชาติลักษณะนี้จะมีความผิดอะไรบ้าง เราลองมาดูกัน

1. ความรับผิดกรณีถือหุ้นแทนคนต่างชาติ 

กรณีที่คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว โดยอาจจะถือเป็นหุ้นลมที่ไม่ได้มีการชำระเงินค่าหุ้นด้วยตนเอง ก็จะมีความผิดฐานสนับสนุนคนต่างด้าวให้หลีกเลี่ยงไม่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจตามกฎหมาย มีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับหนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านบาท และจะถูกศาลสั่งให้เลิกประกอบธุรกิจหรือออกจากการถือหุ้นครับ ปกติความผิดนี้เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย การตรวจสอบมักไม่ได้เริ่มมาจากการร้องเรียนของประชาชน แต่จะเริ่มจากหน่วยงานของรัฐเองซึ่งคือ "กองธรรมาภิบาล" ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์เหมือนกัน โดยกองธรรมมาภิบาลจะส่งจดหมายไปยังบริษัท ให้ผู้ถือหุ้นคนดังกล่าวของบริษัทชี้แจงและนำส่งหลักฐานการลงทุน การชำระเงินค่าหุ้น เพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ก็จะประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไปครับ

2. ความรับผิดในเงินค่าหุ้นส่วนที่ยังไม่ได้ชำระ

กรณีนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจเริ่มไปไม่รอดและต้องเลิกประกอบธุรกิจ เมื่อเลิกประกอบธุรกิจแล้วบริษัทจะต้องเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีเพื่อรวบรวมทรัพย์สินให้ได้มากที่สุดไปสะสางหนี้สินทั้งหมดจากการประกอบกิจการ ความรับผิดส่วนนี้มักจะเกิดในช่วงเวลาที่ผู้ชำระบัญชีจะรวบรวมทรัพย์สิน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรียกค่าหุ้นที่ค้างชำระจากผู้ถือหุ้นนั้นเอง  

ตามกฎหมายแล้ว ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะไม่ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนเงินที่ตนลงทุนไป เช่น ถ้าถือหุ้นจำนวน 25,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เป็นจำนวน 2,500,000 บาท เมิ่อบริษัทเลิกกิจการแต่ไม่มีเงินเหลือคืนผู้ถือหุ้นเลย ผู้ถือหุ้นก็แค่เสียเงินจำนวน 2,500,000 บาทไปครับ แต่กรณีที่ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นขั้นต่ำแค่ 25% หรือชำระมากกว่าแต่ยังไม่ครบ เช่น ชำระค่าหุ้นไปครึ่งเดียวที่จำนวน 1,250,000 บาท เมื่อเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นจะต้องรับผิดชำระเงินค่าหุ้นที่เหลือให้ครบจำนวน

ปัญหาจะเกิดกับผู้ถือหุ้นคนไทยที่ถือหุ้นลมแทนคนต่างชาติ เพราะว่าตอนเข้าเป็นผู้ถือหุ้นตอนแรกก็ไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นเอง พอถึงตอนเลิกกิจการก็ยังถูกเรียกชำระเงินค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบอีก ถ้านายทุนที่เป็นคนต่างด้าวชำระให้ก็ดีไป แต่ถ้านายทุนต่างด้าวทอดทิ้งไป ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวดังกล่าว

3. ความรับผิดอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น

จริงๆ แล้ว ตามระเบียบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรณีที่เป็นกรณีที่บุคคลต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทไม่ถึง 50% ขณะที่ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยทุกคนจะต้องยื่น "หนังสือรับรองยอดเงินฝาก" ที่ธนาคารออกให้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าตนมีเงินลงทุนเพียงพอที่จะชำระค่าหุ้นนั้นจริง  และต้องยื่น "ใบรับชำระค่าหุ้น" ลงลายมือชื่อโดยกรรมการที่จดทะเบียน ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานยืนยันว่าผู้ถือหุ้นคนไทยลงทุนในหุ้นจริงๆ ต่อนายทะเบียน กรณีที่พิสูจน์ต่อกองธรรมภิบาลตามข้อ 2. ไม่ได้ ผู้ถือหุ้นก็อาจมีความเสี่ยงรับผิดทางอาญาในข้อหา แจ้งความเท็จ ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เพิ่มเติม

เขียนและเรียบเรียงโดย รักพล สังษิณาวัตร 
(ทนายความรักพล)
Email: rukphons@gmail.com
Tel: 095-390-8245

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น