ท่ามกลางวิกฤตของสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งที่เกิดจากสงครามการค้า
โรคระบาด หรือเหตุการณ์ภายในประเทศ
ส่งผลให้นายจ้างล้วนได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจไปด้วย
แต่ดูเหมือนไม่ใช่นายจ้างฝ่ายเดียวที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น
แต่รวมไปถึงลูกจ้างซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน
เนื่องจากนายจ้างบางรายหรือบางองค์กรที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
อาจได้รับผลกระทบถึงขนาดต้องลดขนาดของกิจการหรือแม้กระทั่งเลิกกิจการ
ไม่ว่าทางใดก็ตาม ล้วนแต่เป็นสาเหตุซึ่งนำไปสู่การเลิกจ้างต่อลูกจ้างในที่สุด
สำหรับการเลิกจ้างของนายจ้างบางรายอาจไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นกรณีที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามที่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องเลิกจ้างลูกจ้าง
ก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะให้นายจ้างละเว้นจากการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับลูกจ้างแต่อย่างใด
ลูกจ้างยังคงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
แต่คำถามคือถ้านายจ้างเลือกที่ฝ่าฝืนไม่ชำระเงินค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษอะไรบ้างเพื่อกดดันนายจ้าง?
นายจ้างหมายถึงใคร?
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5
กำหนดให้ "นายจ้าง" หมายความว่า
ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง
1. ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
2. ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล
และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย
จากตัวบทกฎหมายข้างต้น จึงหมายความว่า
ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล
ก็ให้หมายถึงบุคคลผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นด้วยเช่นกัน
บทลงโทษนายจ้างในทางแพ่ง
ในทางแพ่งนั้นหมายถึงการลงโทษในเชิงที่เป็นการเยียวยารักษา
เรื่องค่าชดเชย หรือค่าเสียหาย เมื่อนายจ้างค้างชำระค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด
บทลงโทษของนายจ้างในทางแพ่งจึงมาในรูปแบบของดอกเบี้ย โดยบทลงโทษทางแพ่งนั้น
ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5
ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างชำระดอกเบี้ยเพิ่มเติมในกรณีที่นายจ้างไม่ชำระค่าชดเชยให้กับนายจ้างเมื่อพ้นระยะเวลา
7 วัน นับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดต้องชำระค่าชดเชยดังกล่าว ไปทุกระยะ 7 วัน
จนกว่าจะชำระครบถ้วนต่อลูกจ้าง
บทลงโทษนายจ้างในทางอาญา
หากมีเพียงบทลงโทษเพียงทางแพ่ง ก็อาจไม่ทำให้นายจ้างรู้สึกกระตือรือร้นมากนัก เพื่อเป็นการกดดันนายจ้าง กฎหมายจึงได้มีการกำหนดโทษทางอาญาขึ้นมาด้วย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 144 ซึ่งกฎหมายได้กำหนดอัตราโทษไว้ คือโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน และโทษปรับสูงสุดที่ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนที่โทษทางอาญาจะมีผลต่อนายจ้างเมื่อไร อย่างไรนั้น
ได้ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 141
โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ได้แก่
1. กรณีที่ลูกจ้างใช้สิทธิร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน
ในกรณีนี้ โทษทางอาญาของนายจ้าง
จะเริ่มขึ้นเมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งต่อนายจ้างให้ชำระค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง
โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 139
หากนายจ้างไม่เห็นด้วย นายจ้างจะต้องอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งนั้น
หากนายจ้างไม่อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว
ทางพนักงานตรวจแรงงานจะประสานงานกับทางพนักงานสอบสวน
เพื่อดำเนินคดีอาญากับนายจ้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม
ในกรณีที่นายจ้างได้อุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
หากมีการวางหลักประกันหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นจากอธิบดี
โทษทางอาญาจะเริ่มขึ้นเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
2. กรณีที่ลูกจ้างฟ้องเป็นคดีแรงงานต่อศาลแรงงาน
ในกรณีนี้ศาลแรงงานนั้น มีอำนาจเพียงแค่พิจารณาคดีแรงงาน ซึ่งเป็นคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงคดีอาญา ภายหลังที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาแล้ว ลูกจ้างอาจดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องคดีอาญาต่อศาลยุติธรรม เพื่อดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างได้ต่อไป
(ทนายความรักพล)
Email: rukphons@gmail.com
Tel: 095-390-8245
0 ความคิดเห็น