Ticker

6/recent/ticker-posts

ลาออกแล้ว แต่ไม่ให้ไปทำงานกับคู่แข่ง


เป็นเรื่องธรรมดาที่บริษัทหรือนายจ้างจะต้องการรับพนักงานที่มีความสามารถที่สูงเข้ามาทำงานในองค์กรของตนเอง เมื่อรับบุคคลที่มีความสามารถสูงเข้าแล้ว ก็มักจะมอบตำแหน่งงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะหรือที่ต้งมีความรับผิดชอบสูงในการทำงาน ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้มักจะเป็นตำแหน่งงานที่อาจจะต้องเข้าถึงความลับทางค้า ข้อมูลลับในการผลิต หรือกลยุทธ์ทางการตลาด จึงทำให้นายจ้างหรือองค์กรต่างๆต้องมีมาตราการป้องกันความเสียหายในกรณีที่ลูกจ้างลาออก แล้วนำข้อมูลความลับเหล่านี้ไปเปิดเผยหรือไปหาประโยชน์ให้กับตนหรืองค์กรอื่น ซึ่งวีธีป้องกันที่เป็นที่นิยมขององค์กรต่างๆ คือการกำหนดข้อห้ามมิให้ลูกจ้างทำงานให้กับคู่แข่งในสัญญาจ้างนั้นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดนี้ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง บทความนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความรู้ในข้อกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป

ข้อกฎหมายเกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5

ข้อตกลงจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการ ทํานิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทําให้ผู้ ถูกจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติให้มีผลบังคับได้เพียง เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

รัฐธรรมนูญ มาตรา 40

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ


การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบ การประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
...


จากข้อกฎหมายข้างต้น เราจะสังเกตุได้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการประกอบอาชีพโดยบุคคลหนึ่งไม่สามารถที่จะจำกัดเสรีภาพของอีกบุคคลหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันในการประกอบอาชีพได้ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่เป็นการทำนิติกรรมต่อกัน เช่น ทำสัญญาจ้างแรงงาน ได้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า นายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นคู่สัญญาต่อกัน สามารถทำข้อตกลงเพื่อการจำกัดเสรีภาพเฉพาะเพียงบางส่วนอย่างชั่วคราวของลูกจ้างภายหลังออกจากงานแล้วก็ได้ เพื่อรักษาสิทธิและประโยชน์ของนายจ้าง  ซึ่งในกรณีที่มีข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้น กฎหมายที่นำมาปรับใช้ในเรื่องข้อตกลงดังกล่าวนั้นคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5 โดยมีการกำหนดให้การจำกัดสิทธินั้นให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมและสมควรแก่กรณีเท่านั้น ปัญหาก็คือการจำกัดสิทธิอย่างไรที่ยังถือว่าเป็นธรรมและสมควรแก่กรณี

ขอบเขตของการจำกัดสิทธิ

เมื่อตัวบทของกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าการจำกัดสิทธิอย่างไรที่ยังถือว่าเป็นธรรมและสมควรแก่กรณี เราจึงจำเป็นต้องใช้คำพิพากษาซึ่งฎีกาได้วินิจฉัย มาเป็นบรรทัดฐาน ดังคำพิพากษาของศาลฎีกาดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1275/2543

“สัญญาแนบท้ายสัญญาจ้างมีข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างว่า  ในขณะที่ทำงานเป็นลูกจ้างและหลังพ้นสภาพลูกจ้างไปแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี   ลูกจ้างไม่กระทำการใดหรือเข้าทำงานในบริษัทคู่แข่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง  การขนย้ายและจัดเก็บสินค้าภายในประเทศไทย  สาธารณรัฐเวียดนาม  กัมพูชา  สามธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและพม่า หากฝ่าฝืนตกลงจ่ายเงินให้นายจ้างเป็นเงิน 1,000,000 บาท

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างดังกล่าว  เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับนายจ้าง  โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของลูกจ้างอย่างเด็ดขาดและลูกจ้างสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่นๆ  ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงนี้ได้  ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามเฉพาะประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศในแหลมอินโดจีน  มิได้รวมถึงประเทศใกล้เคียงอื่นๆด้วย  ลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยความสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้  ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของลูกข้างเสียทั้งหมดทีเดียว  เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น   จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ  ไม่เป็นการปิดการทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้  ข้อตกลงนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ

จากคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีการจำกัดระยะเวลาไม่ให้ไปทำงานกับนายจ้างอื่นซึ่งอยู่ในธุรกิจที่กำหนดไว้ในสัญญานานถึง 5 ปี แต่ก็เป็นเพียงการจำกัดสิทธิลูกจ้างเฉพาะกับการทำงานกับคู่แข่งซึ่งอยู่ในขอบเขตของธุรกิจประเภทการขนส่งเท่านั้น และมีการห้ามการทำงานในบางพื้นที่ ดุลพินิจของศาลแสดงให้เห็นว่า กรณีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการตัดทางทำมาหาได้ของลูกจ้างทั้งหมดและเป็นเพียงการจำกัดสิทธิของลูกจ้างเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงยังคงถือว่าข้อกำหนดในสัญญาจ้างนี้ยังเป็นธรรมอยู่ แต่อย่างไรก็ตามหากระยะเวลานานกว่านี้ก็คงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งผลคำพิพากษาอาจจะเปลี่ยนไปได้

โดยสรุปก็คือ ในส่วนของการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หากนายจ้างได้กำหนดขอบเขตไว้จำกัดแค่เพียงเฉพาะบางสายอาชีพ ซึ่งจะต้องเป็นการแข่งขันกับนายจ้างเท่านั้น หรือจำกัดไม่ให้ทำงานแค่เพียงบางสถานที่ หากไม่เป็นการปิดตายเสรีภาพในการทำมาหาได้ของลูกจ้างจนเกินไป ก็ยังคงเป็นข้อกำหนดที่สามารถบังคับใช้ได้โดยไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย


เขียนและเรียบเรียงโดย รักพล สังษิณาวัตร 
(ทนายความรักพล)
Email: rukphons@gmail.com
Tel: 095-390-8245





แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น